หมวดหมู่: ยานยนต์

1aaaaaaa1eA


อนาคตไทยยุค 4.0 และโอกาสใหม่ที่มากกว่ายานยนต์ไฟฟ้า

     ที่ห้องแอมเบอร์ 2-3 อิมแพค เมืองทองธานีมีการจัดงานเสวนาพลังงานทางเลือก 4.0 ในหัวข้อ'ความท้าทายขออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยใน"NEW S-CURVE” โดยมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย (AEITF) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (GPI)

      คุณสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาว่า กิจกรรมหลักมูลนิธิก็คือ จัดทำกิจกรรมสัมมนา, การจัดนิทรรศการและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากพลังงานทางเลือกในยุค 4.0 รวมทั้ง ให้บริการงานทางด้านวิชาการ องค์ความรู้แก่ชุมชนและประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ

       การจัดงานเสวนาพลังงานทางเลือกในยุค 4.0 ในหัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยใน NEW S-CURVE' เป็นกิจกรรมที่สำคัญของมูลนิธิ ซึ่งได้จัดขึ้นทุกปีก็เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการสมัยใหม่ภายใต้ระบบนิเวศใหม่ในพื้นที่ EEC โดยมั่นใจว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 รวมทั้งพลังงานสะอาดอื่นๆ เช่น พลังงานลม พลังงานชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งหากมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เทคโนโลยีการเก็บกักพลังงาน เครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริด เพื่อการจัดการพลังงานก็สามารถ สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทยโดยไม่ต้องพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิล

     นอกจากนั้น การจัดเสวนาในครั้งนี้ก็เพื่อจุดประการความคิดให้กับรัฐบาลในการพิจารณาตรวจสอบมุมมองทุกฝ่ายให้รอบด้าน ไม่ใช่การทำร้ายธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งให้ล้มไป แต่ให้มองเป็นโอกาสใหม่ โอกาสของธุรกิจเกิดใหม่ และโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจเดิมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายและประชาชนในประเทศ

     ดร.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร จาก NECTEC กล่าวว่า รัฐบาลประกาศนโยบาย 'ประเทศไทย (ยุค) 4.0' เพื่อตั้งรับ'กระแสคลื่นลูกใหม่' หรือ New S Curve พร้อมทั้งกำหนดส่งเสริม10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถูกจัดเป็นยานยนต์สมัยใหม่) ที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ผลักดันโลกไปสู่คลื่นลูกใหม่ได้แก่ 1.ความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด 2.ความต้องการความสะดวกคล่องตัวมากขึ้นของคนยุคใหม่ และ 3.ความพร้อมของเทคโนโลยีก้าวกระโดด (Disruptive Technologies) ที่เป็นเครื่องมือวิเศษสำหรับผู้มีทักษะการบูรณาการและคิดสร้างสรรค์

      ธุรกิจคลื่นลูกใหม่จึงไม่ได้แข่งขันกันเพียงแค่ผลิต “ยานยนต์สมัยใหม่”ออกมาขายแทนที่ยานยนต์สมัยเก่า แต่ต้องใช้พลังงานสะอาดและยังหลอมรวมการสื่อสารและการเชื่อมต่อมาช่วยเพิ่มความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงการลดภาระต่างๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับการเดินทางหรือลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นให้กับผู้ใช้บริการ ด้วยการเสนอบริการรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ นักพัฒนาคลื่นลูกใหม่จะสนุกกับการทำหน้าที่เพิ่มเพื่อสร้างโอกาสใหม่ และกล้าหลอมรวมการทำหน้าที่ใหม่ของสิ่งต่างๆที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกันเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ ซึ่งเรียกแนวทางนี้ว่า Smart Mobility แต่นักพัฒนาคลื่นลูกเก่ายังเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับยานยนต์และไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำเพิ่ม เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่บนคลื่นลูกเก่าที่ต่อยอดแนวทางเดิมไปเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีธุรกิจเช่นนี้เหลือให้เห็นแล้ว

      ดังนั้น การพัฒนาคลื่นลูกใหม่ของประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางแบบพลิกโฉม (Disruption) จะริเริ่มให้เกิดขึ้นได้ก็ต้องออกจากวังวนการต่อยอดแนวทางเดิมก่อน ภาครัฐต้องเป็นผู้นำการพลิกโฉมแนวทางใหม่ และใช้นโยบายแบบพลิกโฉม (Disruptive Policy) ตั้งแต่การวางโครงสร้างและรากฐานการพัฒนา กำหนดบทบาทหน้าที่ใหม่และบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสร้างห้องเรียนคลื่นลูกใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่าน ภารกิจเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ส่วนราชการเป็นผู้นำการขับเคลื่อน ต้องทำหน้าที่เพิ่มขึ้นและปรับรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง ทดลองและพัฒนาไปพร้อมกับภาคส่วนอื่นๆ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบราชการที่สละทิ้งพื้นที่สุขสบายที่เพียรรักษาและสืบทอดกันมานาน เพื่อปรับให้ระบบการทำงานเป็นปกติเพียงพอที่จะเน้นการทำประโยชน์ได้มากกว่าทำคะแนน เพื่อให้คนไทย 4.0 ทั้งในประเทศและที่อยู่ทั่วโลกสามารถกลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับรัฐบาลไทย

      โดยสรุปทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และ Smart Mobility มาได้แน่ๆ และเป็นโอกาสสำคัญของคนไทยด้วย แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่า ก็คือ รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้และจังหวะที่โลกกำลังจะเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 ทำประโยชน์ให้คนไทยได้อย่างไร และจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้อย่างไร

       ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวถึงเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Mobility) ว่า กระแสของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) มีการพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงนี้ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีการเกิดเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหลายอย่าง ยกตัวอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือกล้องถ่ายรูป ซึ่งปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้ถูกใช้งานในการโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็น Smart Phone ที่สามารถถ่ายรูป หรือใช้งานอินเตอร์เน็ต เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ติดตัวขนาดเล็ก ทั้งนี้ ในภาคการขนส่งมีการคาดการณ์กันว่า การเดินทางด้วยยานยนต์สมัยใหม่หรือยานยนต์อัจฉริยะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการยานยนต์โลกและกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีหลายบริษัทกำลังพัฒนายานยนต์สมัยใหม่กันอยู่ ซึ่งสามารถจะสรุปแนวโน้มในการพัฒนาใน 4 เรื่องหลักอันได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle = BEV) รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ รถยนต์เชื่อมต่อกับภายนอก และการแบ่งปันการใช้รถยนต์

      สำหรับ BEV หรือ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% หรือ เป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่เปลี่ยนจากต้นกำลังเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนหลักมาเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า โดยการทดแทนการเติมเชื้อเพลิงน้ำมันด้วยการอัดประจุไฟฟ้าจากภายนอกแทน ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ในตัวรถ โดยผู้ใช้รถสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากที่พักอาศัยหรือที่ทำงานได้อย่างสะดวก ที่สำคัญไม่มีการปลดปล่อยมลพิษจากรถยนต์สู่ท้องถนน รวมทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีบริษัทผู้นำที่มีการพัฒนาและนำรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายเชิงพาณิชย์ เช่น บริษัท Tesla โดยปัจจุบันมี 3 รุ่นที่ออกจำหน่าย ซึ่งมีระยะทางวิ่ง 300-500 กม.ต่อการอัดประจุ 1 ครั้ง

      อย่างไรก็ตาม ประเด็นความท้าทายของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ายังมี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ 'ต้นทุนของแบตเตอรี่' ซึ่งมีราคาสูงส่งผลทำให้ราคาของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งคันและต้นทุนในการถือครองรถยนต์ไฟฟ้ายังสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์อยู่ ถึงแม้ว่า ต้นทุนการใช้งานด้วยพลังงานไฟฟ้าจะต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันก็ตาม ซึ่งจำเป็นต้องมีเงินสนับสนุนผู้ซื้อรถใหม่ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อย่างไรก็ตามต้นทุนของแบตเตอรี่มีแนวโน้มลดลงและคาดว่า จะอยู่ลงไปต่ำกว่า $100/kWh ภายใน 5 ปี ทำให้ต้นทุนการถือครองของรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างมากและคาดว่าต้นทุนการถือครองของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะทางวิ่ง 200-250 กม.ต่อการอัดประจุไฟฟ้าจะไม่แตกต่างกับรถยนต์เครื่องยนต์ในอีกไม่ช้า

      สำหรับ ความท้าทายที่สองได้แก่ “ระยะเวลาในการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับการเดินทางระยะไกล” โดยทั่วไปรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ขนาด 20-30 kWh สามารถใช้งานได้ระยะทาง 100-150 กม. และเมื่ออัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว 50 kW ที่ความจุ 80-90% จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หากรถยนต์มีแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้น เป็น 40-80 kWh จะสามารถเดินทางด้วยระยะทาง 200-400 กม. ซึ่งต้องพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็วให้มีกำลังสูงประมาณ 350-500 kW เพื่อรักษาเวลาการอัดประจุประมาณ 20-30 นาที นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะให้ครอบคลุมการใช้งานให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้รถเกิดความมั่นใจในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางระยะไกล

      นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวถึงการพัฒนาโครงการ Chachoengsao Bluetech City ในพื้นที่ EEC เพื่อต่อยอดธุรกิจ New S-Curve ของบริษัทว่า บริษัททำงานด้านพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมาตลอดว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ทำให้คนมีความตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น EA จึงเน้นทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   โดยเราจะเปลี่ยนพลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลัก จากปัจจุบันที่พลังงานทดแทนเป็นเพียงพลังงานทางเลือก ดังนั้นจึงต้องไปลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งถือว่า เป็นจิกซอร์ตัวสุดท้าย ที่จะทำให้พลังงานทางเลือกกลายเป็นพลังงานหลักได้

      “EA มองว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นก็เป็นวิชั่น ซึ่งเกิดจากการไปรวบรวมความคิดเห็นมาแล้ว จึงได้เน้นพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ 5 New S-Curve เดิมกับ 5 New S-Curve ใหม่ เป็นสิ่งที่ประเทศควรเดินหน้า รัฐบาลจึงส่งเสริมและมีการตั้งเขต EEC ขึ้นมา แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ เวลาจะทำอะไรก็ขยับตัวช้า ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ที่ว่า ทั้งแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีชีวภาพ ก็เป็นสิ่งที่บริษัทอยากจะเข้าไปทำอยู่แล้วแต่พบว่า สิ่งแวดล้อมปัจจุบันไม่น่าจะทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ จึงที่มาว่า ทำไมเราจึงเข้าไปทำโครงการ Chachoengsao Blutech City เป็นแบบนิคมอุตสาหกรรมในแบบระบบนิเวศน์ใหม่” นายสมโภชน์กล่าว

EA เปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย MINE Mobility โชว์ศักยภาพผลิตรถต้นแบบ 3 รุ่นพร้อมกันในงานมอเตอร์โชว์ 28 มี.ค. - 8 เม.ย. 2561 นี้

      EA โชว์พลังสมองและฝีมือคนไทย เชื่อมโยงธุรกิจพลังงาน เตรียมก้าวสู่ตลาดยานยนต์โดยเปิดตัว MINE Mobility รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบถึง 3 รุ่นพร้อมกัน ด้วยรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยว ทันสมัย ปลอดภัย ไร้มลพิษ และประหยัดพลังงานเป็นเยี่ยม ตอบรับการใช้งานในหลายฟังก์ชั่น

        นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจัดงานเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ จากฝีมือการออกแบบและพัฒนาของทีม R&D ของบริษัทซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น โดยได้มุ่งมั่นทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2560 จนเป็นที่มั่นใจจนในปลายปี 2560 ได้จัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นในชื่อ

       บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด (หรือ MINE Mobility Research Co., Ltd.) เพื่อทำการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตลอดจนฟังก์ชั่นต่างๆ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน ก่อนที่จะเริ่มผลิตและจำหน่าย MINE Mobility รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยของเครือ EA ให้ออกสู่ท้องตลาดในอนาคตต่อไป

      งานบางกอก อินเตอร์-เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 จะจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี MINE Mobility ได้นำรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบสัญชาติไทย ที่พัฒนาโดยทีมงานคนไทยอย่างแท้จริง มาร่วมแสดงในงานดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น City EV Concept รุ่น Sport EV Concept และรุ่น MPV EV- Concept เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทุกวัย และเป็น Full EV ทั้ง 3 รุ่น โดยจัดแสดงไว้ที่บูธ A15/1 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 22.00 น.

        ชื่อ MINE Mobility มีที่มาจากคอนเซปท์ MISSION NO EMISSION พันธกิจไร้มลพิษ ที่มุ่งเน้นการสร้างยานยนต์ที่ไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดและปลอดภัย ง่ายต่อการบำรุงรักษา ให้ความคุ้มค่าในระยะยาว เพื่อให้คนไทย ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทยอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยจะเป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ปราศจากมลพิษ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานเราต่อไป

EA เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบสัญชาติไทย 3 รุ่น ตอบโจทย์สังคมไทยไร้มลพิษ

    เป็นอีกหนึ่งบริษัทธุรกิจพลังงานทางเลือกสัญชาติไทยที่น่าจับตามองที่สุดในเวลานี้ สำหรับบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ Energy Absolute (EA)

.      ที่ล่าสุดได้สร้างความสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอีกครั้งด้วยการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าตัวต้นแบบ (Prototype) พร้อมกันถึง 3 รุ่น ภายใต้แบรนด์ ‘MINE Mobility’ เพื่อหวังขับเคลื่อนสังคมไทยเข้าสู่สังคมสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานที่ยั่งยืน ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39

     พลังงานบริสุทธิ์ก้าวเข้าสู่สังเวียนยานยนต์อย่างเต็มรูปแบบด้วยการเปิดตัวบริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด พร้อมนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าตัวต้นแบบที่ปลอดภัย ไร้มลพิษ และประหยัดพลังงาน ซึ่งลงทุนพัฒนาด้วยตัวเองมาอวดโฉมถึง 3 รุ่น ทั้ง City EV Concept (2 ที่นั่ง), Sport EV Concept และ MPV EV- Concept (4 ที่นั่ง) แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องราคาและวันเวลาวางจำหน่ายแต่อย่างใด

      ด้าน นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บริษัทเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบจากฝีมือการออกแบบและพัฒนาของทีม R&D ของบริษัทคนไทยที่มุ่งมั่นทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2560 จนเป็นที่มั่นใจ ก่อนจัดตั้งบริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด ขึ้นมาในปลายปีเดียวกัน โดยมุ่งหวังพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและฟังก์ชันต่างๆ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน ก่อนเริ่มผลิตและจำหน่าย MINE Mobility รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยของเครือ EA ออกสู่ท้องตลาดในอนาคต”

       โดยที่มาของชื่อ MINE Mobility มาจากคอนเซปต์ ‘Mission No Emission’ หรือพันธกิจไร้มลพิษ ที่มุ่งเน้นการสร้างยานยนต์พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัด ปลอดภัย ง่ายต่อการบำรุงรักษา และให้ความคุ้มค่าในระยะยาว เพื่อให้คนไทยได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ปราศจากมลพิษ

.     ก่อนหน้านี้ ภายในงานแถลงทิศทางของบริษัทเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นว่าพวกเขาใช้ระยะเวลา 1 ปี และงบประมาณในการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าตัวต้นแบบไปประมาณ 11.21 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่าบริษัทกำลังเดินมาถูกทางแล้ว

       ขณะที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา EA ก็เพิ่งประกาศสร้างสถานีชาร์จประจุไฟฟ้ากว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมทุกๆ ระยะทาง 5 กิโลเมตรในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลภายในปลายปี 2561 นี้ไปหมาดๆ การเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น Prototype ในครั้งนี้ ทั้ง 3 รุ่นจึงยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำความต้องการ ‘เอาจริง’ กับตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้า

      สำหรับ ผู้ที่สนใจจะยลโฉมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทยทั้ง 3 รุ่น สามารถเดินทางไปชมได้ที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 8 เมษายนนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี บูธ A15/1 ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น. โดยภายในงานยังมีการจัดแสดงรถยนต์จากค่ายอื่นๆ อีกด้วย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!