หมวดหมู่: หุ้นเด่นวันนี้
4
ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงตามภูมิภาค รับ Sentiment ลบระยะสั้นหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งปีนี้
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ที่ติดลบกันทั่วหน้า รับ Sentiment ลบระยะสั้นจากผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาดที่ 0.25% และมีการส่งสัญญาณในครึ่งหลังปีนี้ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในเดือน ก.ย. และธ.ค.ทำให้ปีนี้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 4 ครั้ง จากเดิมที่คาดจะขึ้นแค่ 3 ครั้ง ตอนนี้ก็มีความชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ ก็ไม่ดีกับตลาดหุ้นที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ เนื่องจากจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินในเอเชียที่จะอ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทที่จะอ่อนค่าด้วย เพราะ Fund Flow คงจะไหลออกจากเอเชียไปสู่สหรัฐฯ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะกระทบต่อต้นทุนการเงินของบริษัทจดทะเบียนด้วย
อย่างไรก็ดี ตลาดบ้านเราคงจะปรับตัวลงไม่มาก เพราะวอลุ่มเทรดโดยรวมมีค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว และนักลงทุนต่างชาติก็ขายมาตลอด เพียงแต่ขณะนี้ตลาดบ้านเราก็ไม่ได้มีปัจจัยบวกอะไรเข้ามาด้วย นอกจากนี้ยังต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อไป โดยตามประเด็นเรื่องจะยุติการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อใด และในวันศุกร์นี้ก็ให้ติดตามการประกาศหุ้นเข้า/ออกใน SET50
พร้อมให้แนวรับ 1,710 จุด ส่วนแนวต้าน 1,724 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (13 มิ.ย.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,201.20 จุด ลดลง 119.53 จุด (-0.47%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,775.63 จุด ลดลง 11.22 จุด (-0.40%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,695.70 จุด ลดลง 8.09 จุด (-0.11%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 123.42 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 11.73 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 41.08 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 30.17 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 17.97 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 12.14 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 12.66 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (13 มิ.ย.61) 1,718.34 จุด ลดลง 8.95 จุด (-0.52%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,338.07 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (13 มิ.ย.61) ปิดที่ 66.64 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 28 เซนต์ หรือ 0.4%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (13 มิ.ย.61) ที่ 4.97 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.13 แข็งค่าเล็กน้อย หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด-นลท.รอผลประชุม ECB ปลายสัปดาห์นี้
- รฟม.เตรียมเปิดประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" วงเงินลงทุนราว 1 แสนล้าน ภายในเดือน ก.ย.นี้ ด้าน "ซิโนไทย" ลั่นพร้อมลงสนามชิงงานเพิ่ม หลังปีนี้เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู คาดเปิดใช้งาน ต.ค.64
- รัฐบาลสหรัฐเตรียมประกาศรายชื่อสินค้าจีนราว 1,300 รายการ ซึ่งคาดว่าจะเน้นที่สินค้าภาคเทคโนโลยีเป็นหลัก คิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) ที่จะเก็บภาษี 25% ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ รวมถึงจะประกาศมาตรการจำกัดการลงทุนจากจีนในภาคเทคโนโลยีสหรัฐในวันที่ 30 มิ.ย. 2561 เช่นกัน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐสั่งให้คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ เปิดการไต่สวนการนำเข้าถังก๊าซโพรเพนที่นำเข้าจากไทย ไต้หวัน และจีน หลังมีข้อกล่าวหาว่าทั้ง 3 ประเทศมีการทุ่มตลาด ด้วยการตั้งราคาขายในสหรัฐต่ำกว่าราคาขายในประเทศผู้ผลิต และผู้ส่งออกยังได้รับการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมจากภาครัฐอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตในสหรัฐ
- "ประยุทธ์" กดปุ่มจัดงบลงกองทุนหมู่บ้านปี 61 วงเงิน 20,000 ล้านบาท รับหมู่บ้านละ 300,000 บาท เปิดใจปลื้มกองทุนหมู่บ้านมีความก้าวหน้าและดีขึ้นต่อเนื่องหลังรัฐโอนเงินให้เป็นระยะ "สมคิด"แจงไม่ใช่งบหาเสียงเพราะรัฐบาลทำมา 4 ปีแล้ว
*หุ้นเด่นวันนี้
- TMB (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า 2.9 บาท เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง กดดันให้แบงก์ชาติบ้านเราอาจจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม โดยคาดว่าแบงก์ชาติอาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในช่วงปลายปี เป็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร
- EPG (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 12 บาท มองราคาน้ำมันจะพีคที่สุดในไตรมาสนี้และชะลอลงใน H2/61 บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นบวกกับทั้ง 3 ธุรกิจของ EPG ที่เริ่มฟื้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสก่อน โดยปีนี้ EPP (บรรจุภัณฑ์พลาสติก) จะดีขึ้นเพราะการแข่งตัดราคาลดลง Aeroflex (ฉนวนยาง) จะได้แรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐาน และ Aeroklas (ชิ้นส่วนรถยนต์) จะมีการออกสินค้าใหม่เพิ่ม พร้อมคาดกำไรปี ปี 61/62 (เม.ย.61 – มี.ค.62) ที่ 1,251 ล้านบาท +26% Y-Y และคาด +17% Y-Y ทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 2563 ที่ 1,460 ลบ.
- ARROW (เออีซี) "ซื้อ"เป้า 12 บาท แม้คาดช่วง Q2/61 คาดกำไรหดตัว QoQ หลังงานท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินถูกเลื่อนส่งมอบไปในเดือนก.ย. แต่คาดกำไรจะฟื้นตัว QoQ ในช่วง Q3/61 หลังทยอยส่งมอบท่อร้อยสายไฟมากขึ้นหนุนให้ปี 61 คงคาดกำไรโต 3.9%YoY ตาม Backlog ในมือที่มีอยู่ 1,095 ล้านบาท และ Upside 12.2% และคาดให้ Div. Yield 5.1%
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงเช้านี้ หลังที่ประชุมเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ย
          ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงเมื่อคืน หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 22,842.96 จุด ลดลง 123.42 จุด, -0.54% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,038.07 จุด ลดลง 11.73 จุด, -0.38% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 30,684.07 จุด ลดลง 41.08 จุด, -0.13% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 11,143.04 จุด ลดลง 30.17 จุด, -0.27% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,450.86 จุด ลดลง 17.97 จุด, -0.73% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,380.37 จุด ลดลง 12.14 จุด, -0.36% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,750.91 จุด ลดลง 12.66 จุด, -0.72%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ขณะเดียวกันเฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือนก.ย. และธ.ค. ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้
ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดขยับลง 0.10 จุด ก่อนตลาดรู้ผลประชุมเฟด
        ตลาดหุ้นลอนดอนปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดหุ้นลอนดอนปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะแถลงผลการประชุม
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,703.71 จุด ลดลง 0.10 จุด หรือ -0.00%
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมเฟด ขณะที่กระแสคาดการณ์ส่วนใหญ่ระบุว่า คณะกรรมการเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้
หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง แม้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบลดลงเมื่อคืนนี้ก็ตาม โดยหุ้นบีพี และหุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ต่างก็ปรับตัวลง 0.9%
หุ้นจัส อีท ร่วงลง 4.7% หลังจากเดลิเวรู ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง ได้เปิดเผยแผนการขยายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการทำข้อตกลงกับภัตตาคารในอังกฤษกว่า 5,000 แห่ง
หุ้นเกลนคอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองรายใหญ่ พุ่งขึ้น 3.8% หลังจากบริษัทประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กร มูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ ทรงตัวที่ระดับ 2.4% ในเดือนพ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
ส่วนความคืบหน้าในกรณีที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรปนั้น สภาสามัญชนของอังกฤษ (House of Commons) ได้ยืนยันการกำหนดวันที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการคือวันที่ 29 มี.ค. 2562 ซึ่งถือเป็นการคว่ำข้อเสนอของสภาขุนนางอังกฤษ (House of Lords) ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงวันเวลาดังกล่าว
ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดขยับขึ้น ก่อนตลาดรู้ผลประชุมเฟด ขณะจับตาประชุม ECB วันนี้
         ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการก่อนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะแถลงผลการประชุม นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ โดยตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ที่ประชุม ECB อาจส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ดัชนี Stoxx Europe 600 ขยับขึ้น 0.2% ปิดที่ 388.25 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,890.58 จุด เพิ่มขึ้น 48.28 จุด หรือ +0.38% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,703.71 จุด ลดลง 0.10 จุด หรือ -0.00% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,452.73 จุด ลดลง 0.64 จุด หรือ -0.01%
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นยุโรปค่อนข้างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมเฟด ขณะที่การคาดการณ์ส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้
หุ้นจัส อีท ร่วงลง 4.7% หลังจากเดลิเวรู ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง ได้เปิดเผยแผนการขยายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการทำข้อตกลงกับภัตตาคารในอังกฤษกว่า 5,000 แห่ง
หุ้นเกลนคอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองรายใหญ่ พุ่งขึ้น 3.8% หลังจากบริษัทประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กร มูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์
หุ้นแอโรพอร์ทส์ เดอ ปารีส ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินของฝรั่งเศส พุ่งขึ้น 4.7% หลังจากรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศแผนการขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทแอโรพอร์ทส์ เดอ ปารีส และบริษัทอื่นๆ
หุ้นดิกซอนส์ คาร์โฟน ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกเครื่องไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค ดิ่งลง 2.8% หลังจากมีรายงานว่าทางบริษัทได้รับผลกระทบจากกรณีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้บัตรชำระเงิน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ของเยอรมนี และยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.ของอังกฤษ ส่วนในวันพรุ่งนี้ ยูโรสแตทจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนเม.ย.และอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ของยูโรโซน
นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ โดยคาดว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนก.ย.
ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดร่วง 119.53 จุด หลังที่ประชุมเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ย
        ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (13 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,201.20 จุด ลดลง 119.53 จุด หรือ -0.47% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,775.63 จุด ลดลง 11.22 จุด หรือ -0.40% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,695.70 จุด ลดลง 8.09 จุด หรือ -0.11%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ขณะเดียวกันเฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือนก.ย. และธ.ค. ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้
แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดบ่งชี้ว่า เฟดมีการปรับเปลี่ยนการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์เพื่อแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการปรับตัวดีขึ้น โดยระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ"ปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง" จากเดิมที่ใช้คำว่า"ปรับตัวขึ้นปานกลาง"ในการประชุมเดือนมี.ค. ส่วนอัตราการว่างงาน"ลดลง" จากเดิมที่ใช้คำว่า"อยู่ในระดับต่ำ" และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน "ปรับตัวขึ้น" จากเดิมที่ใช้คำว่า "ชะลอตัวลง"
นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 2.7% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้ สู่ระดับ 2.10% จากเดิมที่ระดับ 1.9% ส่วนอัตราการว่างงานในปีนี้ เฟดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.6% จากเดิมที่ 3.8%
หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลง โดยหุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ร่วงลง 1.7% หุ้นโบอิ้ง ดิ่งลงเกือบ 2% ขณะที่หุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลงเช่นกัน ซึ่งรวมถึงหุ้นเอเมอร์สัน อิเล็กทริก หุ้นอีตัน คอร์ป หุ้นเคแอลเอ็กซ์ และหุ้นยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์
หุ้นเอทีแอนด์ที อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 6.2% หลังจากศาลสหรัฐได้อนุมัติให้เอทีแอนด์ที เข้าซื้อกิจการไทม์ วอเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านสื่อและบันเทิงยักษ์ใหญ่ ในวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นไทม์ วอเนอร์ ดีดตัวขึ้น 1.8% หุ้นทเวนตี้ เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ พุ่งขึ้น 7.7% และหุ้นวอลท์ ดิสนีย์ ปรับตัวขึ้น 1.9%
หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลง แม้ว่าโดยปกติแล้วหุ้นกลุ่มนี้จะได้แรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม โดยหุ้นเจพีมอร์แกน ขยับลง 0.2% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ลดลง 0.1% ส่วนหุ้นซิตี้กรุ๊ป และหุ้นเวลส์ฟารโก ต่างก็ปรับตัวลงราว 0.4%
ส่วนหุ้นกลุ่มสื่อดีดตัวขึ้น โดยหุ้นสปรินท์ คอร์ป พุ่งขึ้น 1.3% หุ้นซีบีเอส คอร์ป ทะยานขึ้น 3.4% และหุ้นดิสคัฟเวอร์รี บวก 1.6%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดีดตัวขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และค่าใช้จ่ายในภาคบริการ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคานำเข้า-ดัชนีราคาส่งออกเดือนพ.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเม.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-การใช้กำลังการผลิตเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆในสัปดาห์นี้ โดยการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ส่วนการประชุมของธนาคารญี่ปุ่น (BOJ) จะมีขึ้นในวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าคณะกรรมการ BOJ จะคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้
--อินโฟเควสท์ 
OO10032

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!