หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

BCPชยวฒน โควาวสารช


BCP คาดเริ่มรับรู้ผลดำเนินงานแหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์ตั้งแต่ Q4/61 หวัง IRR สูงกว่า 15%

     นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) คาดว่าจะสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานจากการเข้าลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/61 ขณะที่คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) สูงกว่าระดับ 15% และจะช่วยพัฒนาธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมของกลุ่มบริษัทได้ในอนาคต จากการที่ประเทศนอร์เวย์เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกและมีมาตรฐานการขุดเจาะที่สูงมาก

      "เราถือครึ่งๆ กับพาร์ทเนอร์ของเรา คาดว่าตอนจบเราจะถือ 45% และพาร์ทเนอร์จะถืออยู่ 45% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นผู้บริหารที่โน่น หลักๆ เราก็คงจะมีทั้ง EBITDA และกำไรที่จะบุ๊คกลับเข้ามาได้ ปีนี้คาดว่าจะปิดดีลได้ในเดือน ต.ค.-พ.ย. เซ็นสัญญาก็อยู่ระหว่างการส่งมอบกันคงจะใช้เวลา 2-3 เดือน ปิดสักตุลาฯหรือพฤจิกาฯ ก็คงรับรู้ได้ในไตรมาสที่ 4 และปีหน้าทั้งปี...ส่วนจะรับรู้เท่าใดนั้นขึ้นกับราคาน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันอยู่ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็มีการรับรู้ฯที่สูงพอสมควร"นายชัยวัฒน์ กล่าวผ่านรายการสถานีโทรทัศน์เช้านี้

     อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน BCP ลงนามในสัญญา Binding Term Sheet in relation to OKEA AS และ Deposit Repayment Agreement โดยจะเข้าร่วมลงทุนกับ Seacrest Capital Group ในแหล่งปิโตรเลียม Draugen Field และ Gjoa Field จาก A/S Norske Shell (Shell) โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ OKEA AS (OKEA) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศนอร์เวย์ในการดำเนินการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์

      การเข้าซื้อแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่ครั้งนี้นับเป็นการเข้าลงทุนแหล่งปิโตรเลียมแห่งที่ 2 หลังจากเข้าลงทุนในบริษัท Nido Petroleum จำกัด (Nido) เมื่อปี 57 โดย Nido มีแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Galoc ประเทศฟิลิปปินส์

      นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่นอร์เวย์ครั้งนี้ อยู่ในเป้าหมายของแผนธุรกิจที่บริษัทจะพิจารณาการลงทุนธุรกิจต้นน้ำเมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงกว่า 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดิบยืนอยู่ระดับ 75-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

      นอกจากนี้ ในปี 63 จะมีประเด็นที่น้ำมันที่ใช้เติมในเรือเดินสมุทรต่าง ๆ จะต้องเป็นน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ ทำให้ราคาน้ำมันดิบในส่วนที่เป็นน้ำมันดิบเบา (light crude) หรือ sweet crude จะมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันดิบหนักค่อนข้างมากราว 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่แหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์เป็น light crude ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทก็กลั่นน้ำมันดิบเบาเป็นหลัก ซึ่งทำให้สามารถบริหารต้นทุนแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน

      นอกจากนั้น แหล่งที่เข้าไปลงทุนนับว่าเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ระดับ World Class Asset มีปริมาณสำรองน้ำมัน 1,400 ล้านบาร์เรล ซึ่งผลิตน้ำมันมาแล้วกว่า 20 ปี และยังคาดว่าจะผลิตได้อีกเกือบ 20 ปี ล่าสุดคาดว่าจะผลิตน้ำมันดิบได้จนถึงปี 83 ขณะที่มีปริมาณสำรองที่จะนำขึ้นมาได้อีกเกือบ 200 ล้านบาร์เรล

       "น้ำมันดิบที่แหล่งทะเลเหนือเป็นน้ำมันดิบเบา และ sweet crude ด้วย ก็ตอบโจทย์หลาย ๆ อย่าง เราคงไม่คิดจะเข้าไปโดยไม่มีพาร์ทเนอร์ กรณีนี้เราก็มีพาร์ทเนอร์ถือหุ้นคนละครึ่ง ก็จะมาช่วยกันบริหารจัดการและแชร์ความเสี่ยงต่าง ๆ"นายชัยวัฒน์ กล่าว

      สำหรับ เงินลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์ที่ระดับ 3,760 ล้านบาทนั้น ในเบื้องต้นคงไม่มีการเพิ่มทุนเพื่อเข้าไปลงทุน

      ขณะที่กำลังการผลิตปิโตรเลียมของแหล่งนี้อยู่ที่ระดับ 20,000-25,000 บาร์เรล/วัน และโครงสร้างการเก็บภาษีที่นอร์เวย์สนับสนุนให้เอาเงินมาลงทุน เมื่อใดที่นำเงินมาลงทุนรัฐบาลจะยกเว้นภาษีให้ 90% ถือเป็นประเทศที่สนับสนุนให้มีการขุดเจาะปิโตรเลียมมากที่สุด ซึ่งเบื้องต้นแหล่งดังกล่าวมีกระแสเงินสดค่อนข้างแข็งแรงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/ปีที่จะสามารถนำมาลงทุนเพิ่มได้

         สำหรับ การรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์นั้นจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์เป็นหลัก โดยประเมินราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยืนอยู่ระดับ 65-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีโอกาสขยับขึ้นไปที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้ สำหรับแหล่งผลิตดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าจะมีต้นทุนการผลิตที่ระดับ 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

        ทั้งนี้ นอร์เวย์ นับเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 4-5 ของโลก โดยมีการผลิตได้ราว 3-4 ล้านบาร์เรล/วัน และเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการขุดเจาะที่สูงมาก การที่บริษัทมีพันธมิตรในประเทศที่มีเทคโนโลยีและมาตรฐานสูงน่าจะช่วยพัฒนาธุรกิจในส่วนนี้ได้เพิ่มเติม

BCP คาดเหมืองลิเทียมในอาร์เจนตินา เริ่มผลิตเฟสแรก 2.5 หมื่นตัน/ปีในปี 63

      นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ร่วมพิธีปิดตลาด New York Stock Exchange Closing Bell ของบริษัท Lithium Americas Corp. (LAC) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

      ทาง LAC ได้แจ้งตลาดฯ NYSE ถึงความคืบหน้าของแหล่งเนวาดาในโครงการ The Thacker Pass ที่จากการศึกษาพบว่าจะเป็นแหล่งที่มีแร่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เพราะเป็นดินที่มีแร่ลิเทียมในปริมาณสูงน่าจะรองรับการผลิตได้ถึง 46 ปี ด้วยกำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี รวมทั้งคาดว่าจะเป็นแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

      ขณะที่ความคืบหน้าของเหมืองที่อาร์เจนตินานั้นดำเนินไปด้วยดี และคาดว่าจะผลิตในเฟสหนึ่ง 25,000 ตันต่อปีในปี 63 และขยายเป็น 50,000 ตันต่อปีในปี 65 เมื่อรวมกันทั้งสองโครงการแล้วจะมีกำลังการผลิตถึง 110,000 ตันต่อปี ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก

      อนึ่ง บริษัท BCP Innovation Pte. Ltd. (BCPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BCP ถือหุ้นใน LAC ในสัดส่วน 16% เพื่อดำเนินโครงการเหมืองแร่ลิเทียมในประเทศอาร์เจนตินา และประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อยอดธุรกิจพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

        อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!