หมวดหมู่: อุตสาหกรรม

OIE NATTAPOL


สศอ.เผยดัชนี MPI ส.ค.61 อยู่ที่ 113.04 โต 0.66%

    สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค.2561 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.66% อยู่ที่ระดับ 113.04 เป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.87%

  นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนส.ค.2561 ขยายตัวร้อยละ 0.66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 โดย 8 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 1.5

   ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมเดือนส.ค.2561 อยู่ที่ร้อยละ 65.87 ซึ่งมีผลจากอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนส.ค. ได้แก่ น้ำตาลทรายขยายตัวร้อยละ 91.12 จากผลผลิตอ้อยในปีนี้มาก ทำให้มีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาและขาวบริสุทธิ์มีมากกว่าปีก่อน

   อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 12.39 ตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉฑาะจากกลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ PCBA และไอซี

   เครื่องปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 32.22 จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อขยายฐานลูกค้าในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปติดตั้งตามอาคารต่างๆ ในการรองรับกีฬาโอลิมปิก รวมถึงการขยายตลาดใหม่ที่อินเดีย

น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 7.43 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันดีเซล รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นจากน้ำมันเครื่องบิน

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางยาขยายตัวร้อยละ 24.04 เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขยายตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

  นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมสำคัญในไตรมาส 4 ปี 2561 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.4 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ อาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง

  อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่าการผลิตยางรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 1.15 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจะขยายตัวในไตรมาส 4 ปี 2561 ร้อยละ 1.5 และการบริโภคในประเทศมีปริมาณ 4.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าจะผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐในช่วงปลายปี

  ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สศอ.ไม่ปรับคาดการณ์ MPI โดยปี 2561 ทั้งปียังคงคาดการณ์ดัชนี MPI อยู่ที่ร้อยละ 2.5-3 เพราะเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนฐานสูง ทำให้ MPI เดือนนี้ไม่สูงอยู่แล้วตามที่คาดไว้ โดยอุตสาหกรรมยาสูบติดลบร้อยละ 48 สุราติดลบร้อยละ 37 ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ยังคงคาดอยู่ที่ร้อยละ 3-4

  ทั้งนี้ ต้องจับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและลบในระยะยาว แต่ยังไม่ชัดเจน ต้องติดตามว่าทั้งสองประเทศจะมีมาตรการตอบโต้กันอย่างไร ซึ่งอาจไม่ใช่มาตรการทางการค้าแล้ว

  “จากผลการตอบโต้ทางการค้าทำให้เกิดไม่สมดุลไปทั่วโลก โดยเฉพาะอาจลามไปสู่วิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ เพราะโดยปกติเงินจะไปหาค่าเงินที่ปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และกลายเป็นความกังวลต่อค่าเงินในประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น อาร์เจนตินา ตุรกี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น ที่อาจส่งกระทบต่อค่าเงินอีกหลายประเทศมีปัญหาตามไปด้วย”นายณัฐพล กล่าว

  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วก็ตาม เพราะไทยยังมีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่อเนื่อง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!