หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 5ร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. ....

 

     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้

     1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงาน คปภ. และสำนักงาน ก.ล.ต. ไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้ปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (11 เมษายน 2560 และ 6 มิถุนายน 2560) เกี่ยวกับการอ้างบทจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

    2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

    1. กำหนดคำนิยาม 'ผู้ให้บริการทางการเงิน'หมายความว่า ผู้ให้บริการทางการเงินประเภท ให้สินเชื่อ ผู้ให้บริการทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อและผู้ประกอบธุรกิจประเภทอื่นตามที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทในเครือเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินเป็นการเฉพาะ

     2. กำหนดให้มี 'คณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน' ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการกำกับและส่งเสริม ตลอดจนกำกับดูแลประกอบกิจการทางการเงิน

    3. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ส่งเสริม และพัฒนาการประกอบกิจการของผู้ให้บริการทางการเงินตามนโยบาย มติ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินกำหนด ทั้งนี้ ให้สำนักงานมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดก็ได้

     4. กำหนดให้กิจการของสำนักงานฯ ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

     5. กำหนดให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงานฯ ประกอบด้วย เงินประเดิมจากรัฐบาล เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ เงินและทรัพย์สินที่มี ผู้อุทิศให้ และดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน ทั้งนี้ บรรดารายได้ทั้งปวงที่สำนักงานฯ ได้รับจากการดำเนินงานในปีหนึ่ง ๆ ให้ตกเป็นของสำนักงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

     6. กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อจะกระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการฯ

     7. กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อต้องขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อกับสำนักงานฯ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการประกอบธุรกิจ

     8. กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการฯ มีอำนาจพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ หากปรากฏว่าผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อรายนั้นไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด กรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ให้บริการทางการเงินมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดหรือตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำความผิดซ้ำอีกจนเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ใช้บริการโดยรวม หรือต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

      9. กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาโทษปรับทางปกครอง จำนวนสามคนประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงาน และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรรมการ มีอำนาจในการพิจารณาลงโทษปรับทางปกครอง

    10. กำหนดโทษปรับทางปกครองสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโดยมิได้ขึ้นทะเบียนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามที่หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท

    11. กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโดยมิได้รับอนุญาตและผู้ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

   12. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อให้เช่าแบบ ลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง ในวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจต่อไปให้ยื่นคำขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่กรณีต่อสำนักงานฯ ภายใน 120 วัน และในวาระเริ่มแรกให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน

    ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 ตุลาคม 2561

         

Click Donate Support Web

468x60 16


BIT FUN728x90

yobit 560 60

8

468x60 bit

468x60 DOG

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!