หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

BCPชยวฒน โควาวสารช


BCP เล็งร่วมทุนสหกรณ์ทั่วทุกภูมิภาคสกัดวัตถุดิบป้อนโรงกลั่นชีวภาพคาดเห็นความชัดเจนปี 62

       นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า กลุ่มบางจากคาดจะสามารถเห็นความชัดเจนของการตั้งโรงกลั่นชีวภาพปี 62 จากปัจจุบันได้เข้าไปศึกษาค่อนข้างมากแล้ว ทั้งในเรื่องของตลาด และผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาต่อยอด เช่น ชานอ้อย ,น้ำตาล ,มันสำปะหลัง, ปาล์ม, สาหร่าย, เศษไม้ยางพารา เป็นต้น โดยเบื้องต้นรูปแบบการลงทุนอาจจะเข้าไปร่วมลงทุนกับสหรกณ์การเกษตรสร้างโรงงานขนาดที่ไม่ใหญ่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคเพื่อสกัดวัตถุดิบป้อนให้กับโรงกลั่นชีวภาพที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ไบโอพลาสติก

       ทั้งนี้ เงินลงทุนดังกล่าวจะรวมอยู่กับแผนการดำเนินงาน 4 ปี (62-65) ของบริษัทที่ได้ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจกลุ่มบางจาก หรืออาจจะใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน (IPO) ของ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในปี 62

        สำหรับ ทิศทางราคาน้ำมันในไตรมาส 4/61 ยังประเมินค่อนข้างยาก จากก่อนหน้านี้บริษัทประเมินว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ราว 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยบริษัทอยู่ระหว่างรอผลการประชุม OPEC ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทำให้บริษัทไม่ได้สามารถประเมินได้ว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อนหรือไม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน

       ในวันนี้ BCP ได้จัดเวทีสัมมนาในหัวข้อ "BIO ECONOMY อนาคตใหม่สู่ความยั่งยืน" เพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 และสร้างความตระหนักในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ ซึ่งแสดงถึงความตระหนักในการให้ความสำคัญต่อการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านการเชื่อมโยงความรู้และนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ในฐานะที่เป็นองค์กรพลังงานของไทยที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่กับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่สังคมไทย

         นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Economy เป็นการนำเทคโนโลยีและแนวคิดนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ช่วยพัฒนาต่อยอดการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เช่น พืช สัตว์ จุลินทรีย์ รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ช่วยสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ให้มีโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมชีวภาพในตลาดโลก

      "ปัจจุบันทิศทางเศรษฐกิจของโลก นอกจากจะมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังใส่ใจในมิติของสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ได้ ด้วยเป็นความรู้แขนงใหม่ที่แทบทุกประเทศดึงมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจชีวภาพกำลังก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญของอนาคต หากเรานำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ดีจะเกิดประโยชน์มหาศาล เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องอาหาร เรื่องทางการแพทย์ และเรื่องพลังงาน ซึ่งล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีพื้นฐานทางการเกษตรที่ดีและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง"นายชัยวัฒน์ กล่าว

          อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!