หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV2 copy copy


ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ประเด็น/สาระสำคัญ

1. วันบังคับใช้

ให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. บทนิยาม

เพิ่มนิยามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุญาต ได้แก่ คำว่า “กระบวนการพิจารณาอนุญาต” “ผู้เชี่ยวชาญ” “องค์กรผู้เชี่ยวชาญ” “หน่วยงานของรัฐ” “องค์กรเอกชน” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ

3. เพิ่มหมวด 1/1 กระบวนการพิจารณาอนุญาต

- กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร

- กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาหารมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร

- กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด

4. การผลิตเพื่อการส่งออก

- กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตเพื่อการส่งออก ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นให้ผู้อนุญาตทราบ รวมทั้งจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อหรือผู้สั่งซื้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

5. กำหนดลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ และแก้ไขบทกำหนดโทษเกี่ยวกับอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายให้มีอัตราโทษที่เหมาะสมกับปัจจุบัน

- กำหนดลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์เพิ่มเติม โดยกำหนดให้อาหารที่มียาหรือสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย เป็นอาหารไม่บริสุทธิ์

- แก้ไขบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม และอาหารผิดมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

6. การควบคุมและกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร

- ให้ผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งเลขาธิการฯ มอบหมาย) มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ทำการโฆษณา ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารดำเนินการแล้วแต่กรณี กรณีผู้อนุญาตเห็นว่าการโฆษณาอาหารเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม เช่น ข้อความที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริง ข้อความที่แสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรืออาการของโรค

- การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และอายุใบอนุญาตโฆษณาอาหาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

- ผู้ได้รับอนุญาตให้โฆษณาอาหาร ต้องโฆษณาตามรายละเอียดและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

- ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ทำการโฆษณา ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารดำเนินการแก้ไขการดำเนินการกับโฆษณาอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาชน สั่งงดการผลิต การนำเข้า หรือการจำหน่ายอาหาร ที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่มีคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณตามที่โฆษณา

7. การดำเนินการกับของกลางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดกับของกลางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่เห็นสมควร โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการอาหารกำหนด

8. อำนาจเปรียบเทียบปรับ

ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน

9. บทเฉพาะกาล

- ใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไป จนกว่าใบอนุญาตโฆษณานั้นจะสิ้นอายุ

- คำขออนุญาต คำขอประเมินเอกสารวิชาการ หรือคำขอใด ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นในกรณีที่คำขอใดมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามด้วย

- ให้ดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี

            ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!