หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV5


ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ [ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ]

 

     เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ [ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ]

      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

สาระสำคัญของเรื่อง

      ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 3 ฉบับ ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH) สำนักงานใหญ่ ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center หรือ ITC) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติตามโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (BEPS) [เช่น การที่ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สำนักงานหรือบริษัทดังกล่าว แต่ในกรณีเช่นเดียวกัน ประเทศอื่นไม่ให้สิทธิประโยชน์ในทางภาษี] ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ที่จัดตั้งโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ประเทศไทยจึงต้องนำโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีดังกล่าวมาปฏิบัติ มิฉะนั้นอาจถูก Forum on Harmful Tax Practices (FHTP) และ Inclusive Framework on BEPS ให้สถานะประเทศไทยเป็น Potentially Harmful หรือ Actually Harmful รวมทั้งการถูกบรรจุชื่ออยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบเกิดแก่การลงทุนในประเทศ

      ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า การยกเลิกมาตรภารภาษีในเรื่องนี้มิได้ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้มาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH2 IHQ และ ITC สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และทำให้ไม่ได้รับสถานะเป็น Potentially Harmful หรือ Actually Harmful จาก FHTP และ Inclusive Framework on BEPS อีก และทำให้ประเทศไทยไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยังรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของไทยและป้องกันไม่ให้ถูกมาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว

       ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ มีสาระสำคัญ ดังนี้

 

มาตรการ / สาระสำคัญ

1. ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH

1) ROH1 (ยุติการจดแจ้งรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ต.ค.61)

2) ROH2 (ยุติการจดแจ้งรายใหม่ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.58)

       - ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 62 เป็นต้นไป

       - ยกเลิกการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือและเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 62

      - ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ROH2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

       - ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ROH2 แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 62 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 63

2. ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ IHQ (ยุติการอนุมัติรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 61)

      - ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป โดยคนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ

       - ยกเลิกการลดอัตราและการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 62 เป็นต้นไป

       - ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลและดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IHQ แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 62 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 63

       3. ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ITC

     - ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ITC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

     - ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ ITC สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 62 เป็นต้นไป

      - ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในไทยสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC แต่ยังคงยกเว้นสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC ซึ่งจ่ายจากรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 62 และจ่ายภายในวันที่   31 ธ.ค. 63

      ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!