หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 6


การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ

     เรื่อง การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 (เรื่อง การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) เพื่อให้สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ของเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

 

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. (กรมธนารักษ์) รายงานว่า

       1. สำนักกษาปณ์เป็นหน่วยงานสังกัดกรมธนารักษ์ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กค. พ.ศ. 2557 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และจัดทำเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องหมายตอบแทน และของสั่งจ้าง ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการยุบ การหลอม การทำลาย และการล้างตัวของเหรียญกษาปณ์ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการติดตั้ง ซ่อมแซมประตูห้องมั่นคง และซ่อมแซมกุญแจตู้นิรภัย ของส่วนราชการ ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี

        และการงบประมาณของเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย โดยในปี พ.ศ. 2514 กรมธนารักษ์ได้จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของขึ้นเพื่อให้สำนักกษาปณ์สามารถทำการผลิตเหรียญกษาปณ์ได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพและช่วยลดภาระของรัฐในด้านงบประมาณประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้หมุนเวียนให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และในปี 2520 ได้จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย

              โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาและรวบรวมสะสมเงินตราสมัย ต่าง ๆ เหรียญกษาปณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งสำนักกษาปณ์ได้ดำเนินการบริหารจัดการผ่านกลไกของเงินทุนหมุนเวียน และต่อมาเงินทุนหมุนเวียนทั้งสองได้รวมเข้าด้วยกันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เพื่อให้เกิดการบูรณาการกระบวนงานเกี่ยวกับการผลิตและจัดหาเหรียญกษาปณ์ไทยทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันทำให้การบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์มีความคล่องตัวทั้งระบบ

         2. อย่างไรก็ดี เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติ (20 มกราคม 2547) เห็นชอบในหลักการให้สำนักกษาปณ์เป็นหน่วยงานทดลองปฏิบัติการจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ได้มีการเตรียมความพร้อม โดยจัดทำแผนปฏิบัติราชการเพื่อปรับเปลี่ยนสำนักกษาปณ์เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษและแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโรงกษาปณ์ที่มีผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักกษาปณ์เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางดำเนินการในภาพรวม เช่น การเตรียมถ่ายโอน ออกแบบระบบการกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ การจัดโครงสร้าง อัตรากำลัง และการจัดวางระบบบริหารจัดการแนวใหม่ เป็นต้น

       และได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ได้ดำเนินการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์เพื่อจัดวางระบบบริหารหน่วยบริการรูปแบบพิเศษของสำนักกษาปณ์ ซึ่งพบว่ามีข้อสังเกตที่สำคัญและอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดวางระบบบริหารหน่วยบริการรูปแบบพิเศษของสำนักกษาปณ์ในส่วนของการบริหารงานบุคคลด้านการพัสดุ ด้านการเงินและงบประมาณ โดยได้แจ้งให้ กค. ทราบพร้อมแจ้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณา แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำประเด็นปัญหาเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการกำหนดหลักการจัดและพัฒนาโครงสร้างระบบราชการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 3/2551 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ซึ่งผลการพิจารณาเกี่ยวกับการพัสดุและการงบประมาณยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด

         3. ต่อมากรมธนารักษ์ร่วมกับมูลนิธิสถาบันธนารักษ์ศึกษาและศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมในการบริหารงานของสำนักกษาปณ์ โดยผลการศึกษาสรุปได้ว่าหลักการของการเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไม่สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินงานของสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ซึ่งมีลักษณะการให้บริการเชิงธุรกิจและอาจนำไปสู่การแข่งขันกับภาคเอกชนซึ่งขัดกับหลักการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 ดังนั้น รูปแบบการบริหารที่เหมาะสมกับภารกิจในปัจจุบันยังคงเป็นรูปแบบหน่วยงานราชการสังกัดกรมธนารักษ์ แต่ควรพิจารณาใช้จุดแข็งของระเบียบเงินทุนหมุนเวียนการผลิตเหรียญกษาปณ์และการทำของ พ.ศ. 2546 (ต่อมามีการยุบรวมกับเงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558

         และออกเป็นข้อบังคับคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินและการทำของ พ.ศ. 2560) ในการออกระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพัสดุและการก่อหนี้ผูกพันเพื่อให้เกิด ความคล่องตัวในการบริหาร ซึ่งข้อเสนอจากการผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินงานของสำนักกษาปณ์ในปัจจุบันที่มีการดำเนินงานในรูปแบบส่วนราชการโดยทุนหมุนเวียนมาโดยตลอดตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาโดยตลอด และสำนักกษาปณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบ แนวทางการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลของกฎหมายการบริหารทุนหมุนเวียน

       4. ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 เรื่อง การจัดโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ : หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) ของสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เพื่อที่กรมธนารักษ์จะได้เร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเหรียญกษาปณ์ให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบเศรษฐกิจ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเหรียญกษาปณ์ระดับสากล ซึ่งกรมธนารักษ์ได้เคยเสนอเรื่องดังกล่าวมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเสนอ ก.พ.ร. พิจารณาก่อน และให้นำผลการพิจารณาของ ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ต่อมาเป็นอำนาจของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (ก.พ.ม.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2560)

        สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้กรมธนารักษ์เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามนัยข้อ 19 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 และต่อมากรมธนารักษ์ได้เสนอเรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในกรมธนารักษ์ กค. โดยในประเด็นการขอยกเลิกใน    ส่วนที่กำหนดให้ สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานทดลองปฏิบัติการจัดโครงสร้างองค์กรเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษนั้น ก.พ.ม. ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้ กค. เสนอขอทบทวน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 แล้ว

         ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!