หมวดหมู่: บริหาร-จัดการ

BOA Prasarn


ประสาร`ชี้ รสก.ไทยยังอ่อนแอหากธุรกิจแข่งขันสูง จากปัญหาโครงสร้างองค์กรซ้ำซ้อน ชี้การดูแลสมบัติชาติต้องมีหน่วยดูแลที่เข้มแข็ง

     นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยในงานสัมมนา"การพัฒนากำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ คำตอบของการดูแลสมบัติชาติ"ว่า รัฐวิสาหกิจไทยเติบโตในระดับสูงในธุรกิจผูกขาด แต่ยังอ่อนแอหากเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง จากปัญหาโครงสร้างองค์กรซ้ำซ้อนถูกแทรกแซงจากการเมือง และมีข้อจำกัดสูง หวังจัดตั้งบรรษัทฯกำกับรัฐวิสาหกิจมีความมาตรฐานขึ้น รายละเอียดดังนี้

 รัฐวิสาหกิจปัจจุบันมีการเติบโตที่สูงมาก ทั้งจากด้านรายได้ และมูลค่ากิจการ มีงบประมาณรายจ่ายที่สูงถึง 4.8 ล้านล้านบาท แต่ย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสุทธิมักจะมาจากธุรกิจที่มีการผูกขาดทั้งสิ้น ในขณะที่ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงจะมีผลการดำเนินงานขาดทุน ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่ครอบครองสินทรัพย์สำคัญของประเทศแต่ไม่สร้างผลกำไรถือว่าเป็นการทำให้ประเทศเสียโอกาสไปด้วย เช่น การบินไทย ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาภายในมาก และยังมีการแข่งขันกับสายการบินต่างประเทศอื่นๆ ด้วย

 ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีปัญหาอย่างมากในด้านโครงสร้างองค์กรที่มีความซ้ำซ้อน ขาดเอกภาพ มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย มีความขัดแย้งของบทบาท ทั้งจากผู้ออกนโยบาย ผู้กำกับกฏเกณฑ์ และผู้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะการเป็นองค์กรที่มีการแทรกแซงจากการเมือง มีเป้าหมายมากเกินไป ทั้งการดำเนินธุรกิจเพื่อผลกำไร และการดูแลให้ประโยชน์แก่สังคม รวมถึงข้อจำกัดทางด้านกฏหมายที่ค่อนข้างมาก

 จึงมุ่งเน้นแผนปฏิรูปไปที่การปรับปรุงกลไกที่เกี่ยวข้องให้องค์กรสามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างปกติ จากการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อน จากเดิมที่ผู้ออกนโยบาย เจ้าของ ผู้กำกับ และผู้ปฏิบัติ อยู่ในหน้าที่เดียวกัน และจัดรูปแบบหน่วยงานที่ทำหน้าที่เจ้าของให้เหมาะสมขึ้น

 ในขณะที่การตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกใช้ จะทำให้รัฐวิสาหกิจมี One Stop Shop สามารถประสานงานกับภาครัฐได้ง่ายขึ้น มีความต่อเนื่องในทิศทางการบริหารงาน และมีการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากล และสามารถคลี่คลายข้อจำกัด ที่เคยเกิดจากกฏหมาย และกฏระเบียบเดิม

 นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้อยู่ที่คณะกรรมการธิการอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยยืนยันว่ากฏหมายดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับกกฏหมายในปัจจุบัน และจะไม่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะหากจะแปรรูปต้องมีกระบวนการแปลงองค์กร ให้ไปอยู่รูปแบบของบริษัทก่อน โดยปัจจุบันมีกฎหมาย พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจรองรับ

 การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ต้องกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน เป็นตัวกรอบบังคับเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีความผิดด้านกฎหมายหากไม่ดำเนินงานตามหน้าที่ ส่วนประเด็นที่ คนร. สามารถจะเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนการถือหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจ ต้องเสนอความเห็นไปให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีกระบวนการมากพอสมควร ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบให้รัดกุม

 คณะผู้ร่างกฎหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มาจากตลาดทุน จึงให้ความสำคัญเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนในรัฐวิสาหกิจ คือเรื่องคือการเปิดเผยข้อมูล ให้รัฐวิสาหกิจจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อจะได้รู้ว่ารัฐบาลจะให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการสิ่งใดบ้าง และห้ามทำสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผนรัฐวิสาหกิจ หากแผนนั้นก่อให้เกิดภาระทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ ต้องมีการประเมินค่าใช้จ่าย ต้องเปิดเผยข้อมูล รัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณ มีฝ่ายสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นต่างได้

 การกำหนดบทบาท สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.). ปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง โดย สคร.จะแนะนำนโยบายเจ้าของกระทรวง ประเมินผลตามหลักเกณฑ์ที่ คนร. กำหนด นอกจากนี้ ด้านบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้น และคอยตรวจสอบความโปร่งใส

 นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพระราชบัญญัติรัฐวิสาหกิจแห่งชาติยังมีข้อพิพากษ์ เช่นประเด็นเรื่อง การปฏิรูปเป็นการรวมศูนย์กินรวบ จากเดิมแยกกันดูแลกระจายเป็น 10 กระทรวง โดยจะชี้แจ้งว่าการรวมนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะรัฐวิสาหกิจมี 56 แห่ง ต้องสรรหากรรมการ 700 คน การหากรรมการที่ดีมีอิสระ หาได้ยาก เพราะในตำแหน่งนี้ให้ผลตอบแทนไม่สูง แต่การรวมศูนย์จะทำให้กระบวนการพวกนี้ชัดเจนมากขึ้น โดยทุกอย่างมีกลไก Gorvenance สากล มี คนร. ต้องเสนอเรื่องไป ครม. มีกระบวนการที่ยุ่งยาก แต่จะมีความโปร่งใสมากขึ้น

 ประเด็นการลดสวัสดิการประชาชน ขอยืนยันว่าไม่ได้ลดสวัสดิการ แต่แยกสวัสดิการที่ชัดเจน จากเดิมรัฐวิสาหกิจให้สวัสดิการ แต่เป็นการรวมกลุ่มไปหมดทั้งคนรวยคนจน ดังนั้น อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในบางกลุ่ม จึงต้องมีการจัดหมวดแยกแยะให้มากขึ้น

 เรื่องที่ถูกพิพากษ์ว่าช่วยเพิ่มการแทรกแซงทางการเมือง ยอมรับว่ารัฐวิสาหกิจต้องดำเนินตามกรอบนโยบายของรัฐบาล แต่จะมีขั้นตอนที่เข้มงวดมาช่วยกลั่นกรอง ให้เกิดการต่อรองมากขึ้น ผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่สามารถทำตามอำเภอใจเหมือนเดิมได้

 ด้านประเด็นว่าเป็นการนำไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ชี้แจงกฎหมายนี้ไม่ทำเพื่อแปรรูป แต่ก็ไม่ได้ห้ามแปรรูปหากในอนาคตปัจจัยแวดล้อมปรับเปลี่ยนไป โดยกระบวนการแปรรูปจะยากมากขึ้น มีหลายขั้นตอน

 ส่วนตัวอยากให้ข้อมูลว่าการแปรรูรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี โดยใน 20 ปีที่ผ่านมา มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 25,000 แห่ง ใน 120 ประเทศ และรัฐวิสากิจไทยที่แปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช่น ธนาคารกรุงไทย (KTB) สามารถระดมเงินลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไปได้แล้ว 70,559 ล้านบาท บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI 51,550 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP 109,868 ล้านบาท โดยบริษัทรัฐวิสาหกิจในตลท. มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) คิดเป็น 19% ของตลาดหลักทรัพย์

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!