US Dollar ไม่มีวันตายจริงหรือ? มาดูปรากฎการณ์ De-dollarization กันว่าไปถึงไหนแล้ว
ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ De-Dollarization หรือการลดอำนาจสกุลเงินดอลลาร์ในระบบ ตลาดโลกมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ และคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่า ดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต??
นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทย บิทแคสต์ จํากัด ให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และมุมมอง ต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้
วิวัฒนาการของ Reserve Currency
เมื่อพูดถึงความแข็งแกร่งของสกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง Reserve Currency จะเป็นสกุลเงินหลักของโลกในเวลานั้นๆ และนับตั้งแต่ปี 1450 ได้เกิดช่วงเวลาที่สกุลเงินหลักของโลกครอง ความสำคัญอยู่ 6 ครั้ง ได้แก่ โปรตุเกส (1450-1530), สเปน (1530-1640), เนเธอร์แลนด์ (1640-1720), ฝรั่งเศส (1720-1815), อังกฤษ (1815-1920) และสหรัฐอเมริกา (1921-ปัจจุบัน) จะเห็นได้ว่า Reserve Currency จะมีอายุราวๆ หนึ่งช่วงอายุคน ดังนั้นคนที่เกิดในยุคนั้นๆ ก็จะรับรู้ได้ว่า Reserve Currency ในยุคนั้นๆ จะมีแค่อันใดอันนึง จึงไม่แปลกหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินโลก หลายๆ คนก็จะไม่ทัน เห็นความเปลี่ยนแปลง
โดยในปี 1940 ทองคำยังคงเป็น Reserve Currency ที่ทั่วโลกยอมรับเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ทองคำก็ยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถแบ่งย่อยได้ และขนถ่ายได้ลำบาก และในปี 1971 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศยกเลิกการใช้ทองคำค้ำมูลค่าธนบัตรอย่างสมบูรณ์ ธนบัตรที่เคยสามารถแลกเป็นทองได้ จึงไม่สามารถแลกได้อีกต่อไป
US Dollar ในฐานะ Reserve Currency กับปัจจัย Petrodollar
ต่อมาในปี 1974 เฮนรี คิสซินเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลงนามกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ในการค้าขายน้ำมันผ่านสกุลเงินดอลลาร์หรือที่เรียกว่า “Petrodollar” ซึ่งช่วงนั้นเป็นยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ความนิยมในเงินดอลลาร์แพร่กระจายไปทั่วโลก และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยทำให้ดอลลาร์เป็น Reserve Currency ที่มีความสำคัญกับการเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากเป็นอย่างมาก
ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีประเด็นข่าวว่า สัญญา “Petrodollar” ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงเกิดเป็นคำถามว่า จะมีผลทางด้านการเงินของ Dollar หรือไม่?? ความสำคัญของเงินดอลลาร์จะค่อยๆ เลือนหายไปหรือเปล่า?? อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสัญญาจะจบลงหรือไม่ เพราะไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องสัญญานั้น และปัจจุบันซาอุฯ ก็ขายน้ำมันในสกุลเงินอื่นได้อยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า Dollar ซึ่งหมายความว่าสัญญานั้นไม่ได้มีความหมายอีกต่อไปแล้ว เพราะ Network Effect ที่ทำให้ Dollar ได้เป็น Reserve Currency ได้เกิดขึ้นไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า ซาอุฯ เข้าร่วมกับกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเทศ BRICS เริ่มมีการสะสมทองคำมูลค่ามหาศาลในคลังสำรอง ทำให้เกิดข่าวลือว่า BRICS อาจใช้ทองคำมาค้ำ เพื่อลดบทบาทความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐฯ
ไม่เพียงแค่นั้น ซาอุฯ ยังเข้าร่วมโครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project (mBridge) หรือโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ (ประเทศไทยนำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มการทดลองเป็นรายแรกๆ) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจโลก
เงินดอลลาร์ยังแข่งแกร่งอยู่ไหม? แข่งแกร่งได้อีกนานเท่าไหร่?
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น World’s Reserve Currency หรือ สกุลเงินสำรองของโลก สัดส่วนของ Reserve Currency ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ทั่วโลกอยู่ที่ 59% ค่าเงินยูโรอยู่ที่ 18.8% และมีการใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการทำธุรกรรมทั่วโลกอยู่ที่ 88% ขณะที่ยูโรอยู่ที่ 31%
เป็นที่รู้กันดีว่าในปัจจุบันเงิน Dollar ที่พิมพ์ออกมาไม่ได้มีทองเป็นตัวค้ำมูลค่าอีกต่อไป แต่เป็นลักษณะที่ใช้พันธบัตรรัฐบาล (Treasury Bond) มาเป็นตัวค้ำมูลค่าเงิน จึงเรียกได้ว่าปัจจุบันมีเงินดอลลาร์หมุนเวียนอยู่ในระบบทั่วโลก ถูกพิมพ์ขึ้นจากระบบเศรษฐกิจของอเมริกาเป็นตัวที่เอามาค้ำประกันเงินดอลลาร์ ดังนั้น ใครที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็ถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ
โดยเจ้าหนี้แบ่งเป็นภายในประเทศ 20.69 Trillion ประเทศอื่นๆ อีก 7.93 Trillion โดยมีบางกลุ่มประเทศที่ก็มีแนวโน้มลดสัดส่วนของการเป็นเจ้าหนี้และลดการถือครองของ US Bond ไม่นานมานี้มีข่าวว่าจีนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเทียบกับส่วนที่ถือครองก็เรียกว่ายังน้อยอยู่ดี แต่ก็หนีไม่พ้นที่คนจะเอามาคิดโยงเรื่องการลดบทบาทเงิน Dollar และเป็นสงครามทางการเงิน ซึ่งถ้าเรามองอีกนัยยะหนึ่งคือจีนถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของอเมริกา คงไม่ได้คิดจะให้ล่มจมในเวลาอันใกล้เพราะหนี้ยังไม่หมด
ส่วนตัวคิดว่าเงิน Dollar ยังแข็งแกร่ง แต่กระบวนการลดบทบาทเริ่มมีให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งล่าสุดอเมริกาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการกดดันทางด้านการเงินกับรัสเซียและประเทศอื่นๆ ที่เห็นการกระทำแบบนั้นก็คงคิดได้ว่าสหรัฐมีอำนาจทางการเงินล้นฟ้ามากเกินไป
อย่างไรก็แล้วแต่ แบบสำรวจผู้จัดการกองทุนยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ ในกรอบระยะเวลา 1-2 ปีนี้ อีกทั้ง หากเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในอดีตเพิ่งผ่านมาการเปลี่ยนผ่านจากสกุลเงินหนึ่งมาสกุลหนึ่งใช้เวลาอย่างเฉลี่ยประมาณ 100 ปี จึงยังมองว่า “ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแข็งแกร่งตลอดไป”
8130